Tuesday 4 September 2012

ยุติ รื้อไม้อัมพวา


ชุมชนจี้ปรับแบบรร.ค้ำอัมพวา

ผู้ประกอบการเปิดทางยอมยุติรื้อถอนบ้านริมคลอง 12 หลัง เพื่อสร้างความสบายใจแก่ทุกฝ่าย ส่วนจะยกเลิกโครงการไปทั้งหมดหรือไม่ขอฟังเสียงประชาชน อ้างทำด้วยความบริสุทธิ์ใจเพื่อพัฒนาอัมพวา

          กระแสต่อต้านโครงการ "ชูชัยบุรี ศรีอัมพวา" มูลค่าโครงการกว่า 500 ล้านบาท ของนายชูชัย ชัยฤทธิเลิศ ผู้ประกอบการธุรกิจค้าอัญมณี ถูกวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านจากฝ่ายอนุรักษ์และเครือข่ายประชาคมคนอัมพวา ในการรื้อบ้านและห้องแถวไม้ริมคลองอัมพวา 12 ห้อง อายุเก่าแก่เกือบ 100 ปี ส่งผลให้ตัวแทนจากหลายฝ่ายประกอบด้วย นายสรรชัย อารยะอัศนี นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา, รศ.ดร.ศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์ และรศ.ดร.วรรณศิลป์ พีรพันธ์ จากคณะสถาปัตกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่ริเริ่มฟื้นฟูและส่งตลาดน้ำอัมพวาเข้าประกวดมรดกโลกทางวัฒนธรรมจนได้รับรางวัลชมเชยจากยูเนสโก, ผู้นำชุมชนอัมพวา และนายชูชัยได้หารือร่วมกัน ที่ห้องประชุมศูนย์สาธารณสุขเทศบาลตำบลอัมพวา เพื่อหาทางออก 

นายชูชัย กล่าวว่า โรมแรมที่กำลังจัดสร้างขณะนี้ เป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว มีกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดคือกลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรป ซึ่งชอบวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพราะมีการจัดพื้นที่ไว้ให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่นได้นำสินค้ามาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยว ส่วนการรื้อถอนห้องแถวเรือนไม้ริมคลองทั้ง 12 ห้อง เพราะสภาพบ้านขณะนี้ผุพังจนไม่สามารถปรับปรุงซ่อมแซมได้ ซึ่งตนมีแนวคิดจะสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับของเดิมอยู่แล้ว แต่เมื่อชาวบ้านไม่เห็นด้วยก็ยินดีที่ยกเลิกการรื้อถอนทั้ง 12 ห้อง เพราะถือเป็นสมบัติของชาติ  
          "การวิพากษ์วิจารณ์และโพสต์ข้อความต่างๆ ในอินเทอร์เน็ตด้วยถ้อยคำรุนแรง ทำให้ผมและครอบครัวเสื่อมเสียชื่อเสียง ภาพที่ปู่ยา ตายาย นำดอกไม้ไปวางที่บริเวณห้องแถวเรือนไม้ริมคลองเพื่อไว้อาลัย เห็นแล้วร้องไห้ และเสียใจเป็นอย่างมาก ผมไม่ได้โกรธเคืองใคร แต่สิ่งที่อยากอธิบายก็คือ ที่ทำลงไปเพราะต้องการสร้างความเจริญให้แก่คนอัมพวามากกว่า ขอยืนยันว่า ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะทำร้ายอัมพวาและคนอัมพวาแต่อย่างใด" นายชูชัย  กล่าวหนักแน่น
          นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รายนี้ย้ำอีกว่า แม้ห้องแถวทั้งหมดจะเป็นสมบัติของตนจากการซื้อที่ดินมา แต่เมื่อเกิดความรู้สึกหวงแหนจากคนในท้องถิ่นก็เห็นว่าควรจะคืนสมบัติให้แก่แผ่นดิน แต่ต้องมาพิจารณาว่า จะทำอย่างไร ห้องแถว 12 ห้อง ซึ่งมีค่าดั่งทองก็ยังอยู่ แต่ว่าจะอยู่ตรงที่เดิมหรือตรงไหนก็ต้องมาหารือกัน หรือหากไม่ต้องการให้สร้างเทวสถาน หรือคิดว่าโครงการที่ตนกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่นี้ไม่เหมาะสมหรือขัดต่อกฎหมาย ก็ยินดีที่จะชะลอการก่อสร้างไว้ก่อนจนกว่าจะหาข้อยุติได้ แม้ว่าจะเสียเงินไปจำนวนมหาศาลก็ตาม
          "จะบอกชาวอัมพวาว่า ชูชัยคนนี้เข้ามาด้วยเจตนาบริสุทธิ์และอยากมอบความรักให้ทุกๆ คน และอยากให้คนอัมพวาอ้าแขนรับและให้โอกาสผม หากผมมาเป็นคนอัมพวาแล้วชาวบ้านไม่เห็นด้วยและไม่ต้อนรับก็คงจะไม่มีความสุข เงินไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับผม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องให้ทุกคนสบายใจและอยู่ในพื้นฐานของความถูกต้องและคุณธรรม คนไทยต้องรักกัน ให้อภัยกัน ขอบคุณซึ่งกันและกัน" นายชูชัยกล่าวเสียงสะอื้นน้ำตานองหน้า








นายกอัมพวาบอกผังเมืองเดิมหมดอายุ

          เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ที่จะยกเลิกโครงการนี้ นายชูชัยย้ำว่า ขึ้นอยู่กับประชาชนส่วนใหญ่ ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่ให้ทำ ก็พร้อมที่จะหยุดโครงการไป เรื่องนี้ถือเป็นกรณีศึกษาสำหรับคนที่จะเข้ามาดำเนินการ ต้องไม่เข้าไปทำลายสิ่งต่างๆ ในสังคม เงินทองที่เสียไปไม่ได้มีค่าอะไรมากมายเท่ากับการมีคุณธรรมและทำให้คนทั้งประเทศสบายใจ 
          ด้าน นายสรรชัย อารยะอัศนี นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา กล่าวว่า การหารือร่วมกันในวันนี้สะท้อนว่า ผู้ลงทุนพร้อมที่จะทบทวนและลดในสิ่งที่จะทำให้ท้องถิ่นไม่สบายใจลง ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งมาจากผังเมืองรวมเดิมหมดอายุ จึงเป็นช่องว่างในการที่จะก่อสร้างโรงแรมขึ้น ทางออกเรื่องนี้คือการนำเอาเทศบัญญัติมาบังคับใช้ในกรณีของการจัดทำสิ่งปลูกสร้างที่จะมีผลต่อท้องถิ่น  เพื่อขีดกรอบการลงทุน ซึ่งตรงนี้เทศบาลจะไปเร่งออกเป็นข้อกำหนดต่อไป
          "ตอนนี้ตลาดน้ำอัมพวาไม่ใช่ของคนอัมพวา แต่เป็นของคนทั้งประเทศ เพราะนี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่จะรองรับคนต่างประเทศได้ในอนาคต เทศบัญญัติที่จะออกมาจะทำให้เรารักษาวัฒนธรรม สิ่งปลูกสร้างที่เป็นเรือนไม้ชายคลองต่อไปในอนาคต ที่ผ่านมาความล่าช้าในการออกเทศบัญญัติ เนื่องจากเป็นกฎหมายต้องใช้เวลาอยู่บ้างในการทำประชาพิจารณ์" นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา  กล่าว

กลุ่มอนุรักษ์จี้ทุกฝ่ายพูดความจริง

          ส่วน รศ.ดร.ศิริวรรณ กล่าวว่า จากการพูดคุยกันในวันนี้ได้บรรยากาศที่ดี โดยเฉพาะการที่นายชูชัยยอมรับจะทบทวนโครงการก่อสร้าง ถือว่าเป็นการหาทางออกร่วมกันในมิติที่พึ่งพา  แสดงให้เห็นถึงการเปิดกว้างที่จะรับฟังท่าทีจากชุมชนในท้องถิ่น 
          "เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี ยังมีเวลาพูดคุยกันว่า สิ่งที่ทางโรงแรมทำไป อะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่เข้ากับวิถีชีวิตคนอัมพวาก็ต้องมาปรับแบบ ปรับความสูงของตัวอาคาร เพื่อให้สอดคล้องเป็นเรื่องที่ดีที่พูดคุยกันได้" รศ.ดร.ศิริวรรณ กล่าว
          นายวิทยา สังข์คุ้ม ตัวแทนภาคประชาชนใน อ.อัมพวา กล่าวว่า  ประชาชนในอัมพวาไม่ต้องการตึกหรู ขัดกับวิถีชีวิตคนในท้องถิ่น แต่เมื่อมีการก่อสร้างโครงการนี้เกิดขึ้นแล้ว ก็ขอให้แก้รูปแบบที่เข้ากับวิถีชีวิต เพื่อจะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาคมคนรักแม่กลองได้ส่งหนังสือคัดค้านการจัดประชุม “เจรจาและทำความเข้าใจ” ในวันนี้ (3 ก.ย.) เนื่องจากไม่มีความชอบธรรมและมีลักษณะไม่ชอบมาพากลหลายประการ เราต้องการให้สังคมตระหนักว่า การพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวแบบไร้ทิศทางไม่เคารพวิถีชีวิตของชุมชน ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำลายอัตลักษณ์ชุมชน ทั้งยังเป็นการลดทอนคุณค่าในแง่ภูมิทัศน์วัฒนธรรมริมคลองอัมพวาอีกด้วย จึงขอเรียกร้องให้เปิดเผยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการอนุมัติและดำเนินโครงการอย่างตรงไปตรงมา

รังสิมาเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

          น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นตัวแทนจากฝ่ายการเมืองเข้าร่วมหารือในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า จากการดูข้อมูลที่นายชูชัยนำมาเปิดเผยต่อที่ประชุม ซึ่งมีทั้งภาพถ่าย สไลด์ นำตัวแทนผู้เขียนแบบ นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรม และหลักฐานการทำประชาพิจารณ์ในชุมนุมจำนวน 103 คน ซึ่งมีคนไม่เห็นด้วยเพียง 30 คน หลังจากร่วมฟังข้อมูลทั้งหมด เห็นว่าปัญหาเกิดขึ้นจากนายชูชัยทำประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนในชุมนุมได้รับรู้เกี่ยวกับโครงการนี้น้อยเกิน เชื่อว่าถ้ามีการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับประชาชนมากกว่านี้ เสียงคัดค้านน่าจะน้อยกว่านี้
          "จากที่ฟังเป็นโครงการที่สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในชุมนุม แต่อาจมีบางเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องการนำศิลปะตะวันตก เช่น ศิวลึงค์ มาจัดในพื้นที่เทวสถานภายในอาคารสถานที่อาจขัดกับความเชื่อ วัฒนธรรม จารีตประเพณีของคนในพื้นที่ เรื่องนี้คุณชูชัยต้องพูดคุยและแลกเปลี่ยนกับคนในชุมชนให้มากขึ้น เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างได้" น.ส.รังสิมากล่าว
          ส.ส.สมุทรสงคราม กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่านายชูชัยทำเรื่องถูกกฎหมายทุกประการ ทำให้ไม่สามารถไปดำเนินการอะไรได้ ได้แค่ติดตามการก่อสร้างว่าจะออกมารูปแบบใด ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างได้ดำเนินไปแล้วกว่า 70% ซึ่งนายชูชัยรับปากว่าการหารือครั้งหน้าจะแจ้งหน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ให้ทราบล่วงหน้า เพราะการประชุมในวันนี้เป็นการแจ้งกะทันหัน เพราะได้รับแจ้งเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทำให้มีประชาชนมาร่วมรับฟังน้อย เพียงร้อยกว่าคนเท่านั้น

ส.ว.แม่กลองรับเป็นคนกลางเคลียร์ปม

          นายสุรจิต ชิรเวทย์ ส.ว.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ทราบมาว่าการก่อสร้างโรงแรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงขอให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่อนุญาตให้ก่อสร้าง เช่น เทศบาล โยธาธิการและผังเมือง เจ้าท่า พ.ร.บ.โรงแรม ออกมาชี้แจงถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว เพราะต้องดูว่าการยื่นแบบเพื่อขอก่อสร้างทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ได้เสนอแนะแบบหรือแนวทางการก่อสร้างให้เข้ากับชุมชนในท้องถิ่นอย่างไร และทำความเข้าใจกับฝ่ายนักลงทุนและฝ่ายที่ตั้งข้อสังเกตเพื่อให้เกิดความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันโดยไม่ต้องไปจบลงที่ศาล อย่าลืมว่าทางยูเนสโกยกให้อัมพวาเป็นมรดกแห่งเอเชีย
          "เรื่องนี้ถือเป็นบทเรียนสำหรับองค์กรท้องถิ่นที่ไม่คิดจะร่างกฎหมายขึ้นมารองรับความเจริญเติบโต ที่เข้ามาในชุมนุมอย่างรวดเร็วจนคนในชุมนุมไม่พร้อมจะตั้งรับ ผังเมืองก็หมดอายุ จะมีก็เพียง พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร กรณีของอัมพวาครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก หรือต้องร่างข้อบัญญัติปกครองท้องถิ่นมาเป็นภูมิคุ้มกันไว้ และเท่าที่ติดตามข่าวก็เชื่อว่านักลงทุนมีเจตนาดี แต่ไม่เข้าใจภูมิหลังภูมิถิ่นของชุมชน" ส.ว.แม่กลอง กล่าว
          ส.ว.สมุทรสงคราม กล่าวต่อว่า ควรหาคนกลาง เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชน หรือกรรมการธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเข้าไปตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง เป็นการทำงานเชิงบวก เชิงสร้างสรรค์ โดยให้ดูที่เจตนาของผู้ก่อสร้าง หรือสามารถบรรเทาแก้ไขอะไรได้บ้าง เพื่อหาทางอยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธี ซึ่งตนยินดีจะให้ข้อมูล
          นายธีรภาพ โลหิตกุล นักเขียนสารคดี ได้เขียนข้อความชี้แจงในเฟซบุ๊กว่า เราไม่ได้ต่อต้านความตั้งใจทำสิ่งดีๆ เพื่อชุมชนอัมพวาของนายชูชัย ทั้งศูนย์ศิลปะหัตถกรรมพื้นบ้านหรือจะเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมตะวันตก หรือกระทั่งรูปเคารพศิวลึงค์ แต่เราต่อต้านการออกแบบอาคารซึ่ง “ผิดที่ผิดทาง” อันนำมาซึ่งทัศนะอุจาด ทำลายอัตลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น ตามหลักการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม อันเป็นหลักการสากลที่นานาอารยประเทศยอมรับ แต่คุณชูชัยเน้นพูดเรื่องการตัดสินใจไม่รื้อเรือนไม้ 12 หลัง ทั้งๆ ที่เป็นปลายเหตุ ดังนั้นการปล่อยให้มีการสร้างอาคาร ตามโครงการชูชัยบุรี ศรีอัมพวา เป็นประเด็นที่องค์กรบริหารส่วนปกครองท้องถิ่นอัมพวาต้องพิจารณาแสดงความรับผิดชอบ



1 comment:

  1. ขอบคุณคุณชูชัยอย่างยิ่ง ที่มีการคุยกัน แทบจะไม่ค่อยได้ยินบทสนมนาอย่างนี่จากบุคคลที่อยู่ในหมวด นายทุน

    "....เงินไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับผม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องให้ทุกคนสบายใจและอยู่ในพื้นฐานของความถูกต้องและคุณธรรม คนไทยต้องรักกัน ให้อภัยกัน ขอบคุณซึ่งกันและกัน..." ถูกใจๆ

    ReplyDelete